ช้าง นอกจากเป็นสัตว์มงคลวิเศษคู่บ้านเมืองไทยเราแล้ว ส่วนต่างๆ ของช้าง มีหลายอย่างที่ได้รับความเชื่อ และนับถือว่าเป็นของดีมีมงคล หรือมีอาถรรพ์ มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก อย่างเช่น งากำจัด งากำจาย เป็นต้น เป็นของที่มีความวิเศษหลายอย่าง ทนสิทธิ์ มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว เป็นเครื่องรางของขลังที่หาของแท้ได้ยากยิ่งเช่นเดียวกัน
งากำจัด งากำจาย เป็นส่วนหนึ่งของงาช้าง ซึ่งงาช้างนั้น คือสิ่งที่มีค่าที่สุดในตัวของช้างเอง แต่ถึงกระนั้น..ช้างก็คือสัตว์มีคุณ ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองของเราชาวไทยมาอย่างช้านาน เป็นช้างที่คอยช่วยเหลือในการรบศึกสงครามในสมัยโบราณ กอบกู้บ้านเมืองจนมาเป็นปึกแผ่นได้ดังในปัจุบัน ชาวไทยจึงให้ความสำคัญกับช้างเสมอมาอยู่แล้ว
ช้างที่มีชื่อในพงศาวดารไทย เช่น ช้างออกศึกของพระนเรศวรมหาราชนั้น เด็กสมัยใหม่ปัจจุบันอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าชื่อก้านกล้วย ซึ่งนั่น..เป็นนามสมมุติที่ผู้จัดทำการ์ตูนอเมมิชั่นเขาสมมุติขึ้นมาเท่านั้น ชื่อช้างทรงของพระนเรศวรที่แท้จริงแล้วก็คือ “พลายภูเขาทอง” หรือบ้างก็เรียกว่า “พลายพุทรากระแทก” หรือ “พลายพุทรากระทืบ” และเมื่อขึ้นระวางแล้ว ได้รับการแต่งตั้งเป็น “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” เป็นช้างคู่พระบารมีในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ส่วนงาช้าง แท้จริงแล้ว คือ ฟันหน้าของช้าง ที่ยื่นออกมานอกปาก และมีเป็นคู่ ๒ ซี่ ลักษณะทรงกลม สีขาวนวล ถ้างาช้างมีขนาดใหญ่ จะเรียกว่า “งาปลี” แต่ถ้างาช้างมีขนาดยาว จะเรียกว่า “งาเครือ”
งากำจัด เป็นงาช้างที่แตกหักออกมาโดยการกระทำของช้างเองในขณะที่ช้างนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ว่าท่านจะไปฆ่าช้างให้ตายแล้วตัดเอางาช้างมา ถ้าอย่างนั้น โบราณจารย์ไม่ถือว่ามันคืองากำจัด งากำจัด ที่แท้จริงมักเกิดกับช้างตกมัน และเกิดโทษะ ไล่อาละวาดสะบัดขวิด เห็นต้นไม้ก็เข้างัดสะบัดแทง จนปลายงาบางส่วนแตกหักคาต้นไม้อยู่ ซึ่งจะพบเห็นได้ยากยิ่ง งากำจัดนี้ส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเล็ก ไม่ใหญ่มากนัก เพระหักแค่ปลายงา โบราณจารย์ถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ในตัว แม้ไม่ผ่านพิธีกรรมปลุกเสกใดๆ ก็ตาม
งากำจาย หรือบ้างก็เรียกว่า งากระเด็น เป็นงาช้างที่แตกหักออกมาขณะที่ช้างสองเชือกเข้าต่อสู้กัน ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ซึ่งมักเป็นช้างพลายขนาดใหญ่ เข้าต่อสู้กันเพื่อแย่งตำแหน่งจ่าโขลง หรือไม่ก็แย่งช้างตัวเมียกัน การต่อสู้ของช้างทั้งสองเชือกนี้ อาจจะรุนแรงถึงขึ้นทำให้งาช้างบางส่วนแตกหัก บิ่นกระจายออกมา ซึ่งพรานป่าสมัยก่อนเมื่อได้พบเห็นช้างป่าต่อสู้กัน เขาจะแอบเฝ้าดู ว่ามีงาช้างคู่นั้นแตกหักออกมาระหว่างการต่อสู้บ้างหรือไม่ ซึ่งไม่ได้แตกหักทุกครั้งไป งากำจาย จึงถือว่าเป็นงาที่มีอาถรรพ์ มีพลังความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเช่นเดียวกัน
งาช้าง แม้ไม่ใช่งากำจัด งากำจาย ก็สามารถใช้ทดสอบพิษในอาหารได้ เป็นเครื่องรางอีกหนึ่งอย่าง ที่พรานสมัยก่อนมักนำติดตัวอยู่เสมอ เพื่อทดสอบผลไม้ต่างๆ ในป่าว่ามีพิษกินได้หรือไม่ หรือไปทานอาหารที่ต่างถิ่นบ้านใดที่ไม่น่าไว้วางใจ ก็สามารถใช้งาช้างจุ่มลงไปในอาหารเพื่อตรวจสอบว่ามีการวางยาพิษหรือไม่ก็ได้ ถ้าในอาหารนั้นมีพิษ งาช้างจะเปลี่ยนสี จากขาวนวล เป็นดำคล้ำทันที นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่คนจีนสมัยก่อน มักนำงาช้างมาทำเป็นตะเกียบ เพื่อใช้รับประทานอาหาร เพราะเมื่อใช้ตะเกียบคีบอาหารขึ้นมา ถ้าตะเกียบเปลี่ยนสีเป็นดำคล้ำ แสดงว่าอาหารนั้นมีพิษ ต้องระวังตัวทันที
ความศักดิ์สิทธิ์ของ งากำจัด งากำจาย หรือ งากระเด็น
ท่านว่า..ผู้ใดได้งากำจัด หรืองากำจายไว้ครอบครอง พลังอาถรรพ์ทนสิทธิ์นั้น จะช่วยเพิ่มเสน่ และมหาอำนาจ แม้ไม่ผ่านพิธีกรรมปลุกเสกใดๆ โบราณจารย์ที่เสาะแสวงหาได้มา มักจะนำมาเข้าพิธีปลุกเสก เพื่อเพิ่มฤทธิ์คุณวิเศษให้มากขึ้น เชื่อว่ากันว่า ถึงขั้นช่วยให้ผู้ครอบครองมีความเจริญก้าวหน้า รุ่งเรือง ต่ออายุ หนุนดวงชะตาแก่ผู้ที่ดวงตกได้ ยังช่วยคุ้มครองปัดเป่าภยันตรายทั้งหลายทั้งมวลได้อีกด้วย
วิธีดูงาช้าง แท้ไม่แท้ ท่านว่าให้ใช้เข็มเผาไฟ จนปลายเข็มร้อนเป็นสีแดง แล้วทิ่มลงบนงากำจัด งากำจายนั้น ถ้าแทงเข้าไปได้โดยง่าย แสดงว่างากำจัด งากำจายนั้นเป็นของปลอม แต่ถ้าแทงไม่เข้า มีแค่รอยไหม้เป็นจุดดำๆ แค่นั้น แสดงว่างากำจัด งากำจายนั้นเป็นของแท้
วิธีเก็บรักษา งากำจัด งากำจาย
งาช้างหากมีการพกติดตัว เมื่อโดนเหงื่อไคล งาจะใส สีคล้ายดั่งเอาน้ำผึ้งมาชะโลมไว้ ถ้าพูดภาษาคนเล่นเครื่องรางของขลัง ก็ว่าเนื้อจะฉ่ำเหมือนมีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ต่างจากงาช้างที่ได้มาตอนตายแล้ว งาช้างประเภทนั้นจะสีขาวซีด ไม่มีน้ำไม่มีนวล
หากเก็บรักษางาช้างไว้ที่บ้าน ควรเก็บไว้ในอุณภูมิที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากเกินไป งาช้างจะไม่เปลี่ยนสี และไม่ปริแตก บิดเบี้ยว ถ้าเป็นงากำจัด งากำจาย สามารถเก็บรักษาไว้ดั่งเครื่องรางของขลังอื่นๆ ทั่วไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น