ตะกรุด เครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ ที่คนไทยน้อยนัก ที่จะไม่รู้จัก เครื่องรางที่ถูกสร้างขึ้นด้วยมนตราศักดิ์สิทธิ์ ของผู้เรื่องเวท และชาญบารมีขั้นสูง เป็นเครื่องรางที่นักรบไทยโบราณไม่อาจขาดได้ ลือกันว่าแม้แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ยังทรงมีตะกรุดโสฬส ๑๖ ดอกอยู่รอบพระวรกายเช่นเดียวกัน
ตะกรุด คือเครื่องรางที่มีมาอย่างช้านาน ทำด้วยโลหะต่างๆ นำมาตีแผ่เป็นแผ่น แล้วให้ครูบาอาจารย์ ใช้เหล็กจาร จารอักขระเลขยันต์ ปลุกเสก ม้วนเป็นทรงกลม มีรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือกไว้คาดพกติดตัว บ้างใช้ห้อยคอ บ้างก็ใช้คาดเอว แต่จะไม่พกไว้ต่ำกว่านั้น เพราะอักขระต่างๆ เป็นยันต์มีครู การไว้ที่ต่ำ เป็นการไม่เหมาะสม ไม่บังควร ไม่ถูกกาละเทสะ เหมือนดั่งไม่เคารพครูบาอาจารย์
เหล็กที่นิยมนำมาใช้ทำตะกรุด จากการค้นพบตามสถานที่โบราณต่างๆ ก็จะมี ทองคำ, เงิน, นาก, ตะกั่ว และโลหะผสม นอกจากนำมาตีเป็นแผ่นเพื่อลงอักขระแล้ว ยังมีแบบจารย์อักขระเพื่อนำไปหลอมรวมกัน เรียกว่าหล่อตะกรุดโบราณก็มีอยู่
วัสดุที่ใช้ทำตะกรุดนั้น มีอีกหลายประเภทนัก เช่น ใช้รางน้ำฝนบ้าง กาน้ำบ้าง หรือใบลาน มาตัดเป็นแผ่นแล้วจารอักขระบ้าง บางตำราก็ใช้หนังเสือ หนังหน้าผากเสือ หนังเสือดาว หนังงู หนังลูกวัวตายในท้องแม่ หรือกระดูกช้าง กระดูกเขาวัวเผือก เป็นต้น
ตะกรุดที่ทำจากไม้มงคลก็มีเช่นเดียวกัน อย่างไม้ไผ่ตัน ไม้ไผ่รวก ไม้คูน ไม้ขนุน แต่หาได้ยาก ตะกรุดที่พบโดยทั่วไป ส่วนใหญ่จะใช้โลหะ เพราะเป็นวัสดุที่หาง่ายใกล้ตัว
ประเภทของตะกรุดโลหะ
- ตะกรุด ทองคำ, เงิน มักใช้ทำตะกรุดทางด้านเมตตา
- ตะกรุด ทองแดง มักใช้ทำตะกรุดทางด้านคงกระพันชาตรี
- ตะกรุด ตะกั่ว มักใช้ทำตะกรุดทางด้านแคล้วคลาดทั้งหลาย
ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบการทำตะกรุดมาเป็นลำดับตามยุคสมัย จากตะกรุดดอกใหญ่ ก็เริ่มมีหลายขนาด เล็กลงเรื่อยๆ เพื่อง่ายแกการพกพา อย่างทางภาคใต้ จะพบเห็นตะกรุดที่ทำด้วยตะกั่ว ขนาดเล็กมาก เรียกว่า “ตะกรุดทิดหมอน” ตีหนีบกับด้ายสายสิญจน์ สำหรับคาดเอวเด็กทารก ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ เป็นต้น บางคณาจารย์ก็ใช้ปลอกลูกปืน โดยใช้เคล็ดว่า แม่ไม่ฆ่าลูก ก็มี
- ตะกรุดดอกเดียว มักเรียกว่า “ตะกรุดโทน”
- ตะกรุดที่ต้องพกคู่กันสองดอก เรียกว่า “ตะกรุดแฝด”
- ตะกรุดที่ใช้โลหะ ๓ ชนิด เช่น ทองคำ, เงิน, นาก เรียกว่า “ตะกรุดสามกษัตริย์”
- ตะกรุด ๑๖ ดอก คือ “ตะกรุดโสฬส” ที่ประจำพระวรกาย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พลังอำนาจของตะกรุดนั้น มีความศักดิ์สิทธิ์หลากหลาย ขึ้นอยู่กับครูบาอาจารย์ ว่าท่านจะประจุพลังอำนาจสายวิชาใดลงไป มีตั้งแต่อยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดจากภยันอันตราย และศาสตราวุธทั้งหลาย หรือสายมหาเสน่ มีโชคมีลาภ ค้ำดวง พลิกชะตา ในช่วงเวลาดวงตก เสริมอำนาจบารมี เป็นที่ยำเกรง แล้วแต่สายครูบาอาจารย์ท่านจะปลุกเสกขึ้นมา
เครื่องรางประเภทตะกรุด เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการพกติดตัวไปได้ทุกสถานที่ เช่นการไปสู้รบทำสงครามในสมัยก่อน ถ้าพกพระไป เพื่อไปเข่นฆ่ากัน มันจะดูไม่เหมาะสมนัก นักรบโบราณจึงต้องมีเครื่องราง สิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบอื่นๆ พกติดตัวไป ตะกรุด จึงเป็นเครื่องรางชนิดหนึ่งที่นักรบโบราณ จะขาดเสียมิได้
สำหรับตะกรุด ที่นิยมและเล่นหากันในวงการนักสะสมในปัจจุบัน ก็จะมีของอาจารย์ที่พอจะสืบหาประวัติการสร้างกันได้ คือ
- ตะกรุดมงคลโสฬส หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี
- ตะกรุดมหาจักร์พรรดิตราธิราช อาจารย์เฮง ไพรวัลย์ จ.พระนครศรีอยุธยา
- ตะกรุดไมยราพสะกดทัพ หลวงพ่อกุน วัดพระนอน จ.เพชรบุรี
- ตะกรุดคู่ชีวิต หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง จ.พิจิตร
- ตะกรุดหลวงพ่อเนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี
- ตะกรุดมหาระงับปราบหงสา หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ จ.สมุทรสงคราม
- ตะกรุดหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท
- ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงปู่นาค วัดอรุณราชวราราม จ.กรุงเทพฯ
- ตะกรุดหลวงพ่อทบ วัดชนแดน จ.เพชรบูรณ์
- ตะกรุดนารายณ์แปลงรูป พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว จ.ปัตตานี
ตะกรุด นอกจากที่กล่าวมานี้ ยังคงมีอีกหลายคณาจารย์ เพียงแต่บางท่านทำเพียงจำนวนน้อย มอบให้แก่ลูกศิษใกล้ชิดเท่านั้น จึงไม่แพร่หลายในวงการ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น